วารสาร "ปราชญ์ประชาคม" เปิดรับบทความตีพิมพ์ ทั้งบทความวิจัยและบทความวิชาการ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ   กำหนดออกวารสาร ปีละ 6 ฉบับ ฉบับละ 10-12 บทความ
      ฉบับที่ 1   เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์
      ฉบับที่ 2   เดือนมีนาคม - เมษายน
      ฉบับที่ 3   เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน
      ฉบับที่ 4   เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม
      ฉบับที่ 5   เดือนกันยายน - ตุลาคม
      ฉบับที่ 6   เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม

เจตนารมณ์  

พลวัตจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง ลึกลับ และ สลับซับซ้อนตามกระแสโลกาภิวัตน์ การเสริมสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizens) ให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีสมรรถนะเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ เป็นพันธกิจที่ท้าทายสำหรับนักการศึกษาที่ใฝ่การเรียนรู้สังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามสิ่งที่สังคมนั้นได้คาดหวังไว้

       “ปราชญ์ประชาคม” หมายถึง “ชุมชนของปัญญาชน”

       คือ การรวมกลุ่มของนักวิชาการและผู้ใฝ่รู้ที่เป็นทั้งผู้สร้าง (ผู้เขียน) และผู้รับองค์ความรู้ (ผู้อ่าน) พร้อมนำไปสู่การขัดเกลา ทางสังคม ชี้นำแนวทางปฏิบัติให้มีการพัฒนาสุขภาวะทางสังคม ที่เหมาะสมดีงามตามอุดมการณ์ของรัฐและสากลนิยม

     การมีส่วนร่วมของปัญญาชนผู้ใฝ่รู้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจากวารสารฉบับนี้ จึงเป็นเวทีวิชาการ เพื่อศึกษาปัญหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ในสังคม สะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคม และนำเสนอแนวทางที่ควรแก้ไขตามความจริง ความถูกต้อง และความงดงามหลักการดังกล่าวข้างต้น เป็นแรงบันดาลใจให้คณะทำงานได้รังสรรค์สานสัมพันธภาพกับปัญญาชนที่ใคร่ศึกษา ค้นหาแนวทางการพัฒนา และนำเสนอสิ่งที่่มีคุณค่าสารัตถะประโยชน์เชิงวิชาการให้ปรากฏต่อสาธารณชนในวารสารที่ชื่อว่า “ปราชญ์ประชาคม” ต่อไป

คำแนะนำการจัดเตรียมต้นฉบับ                                       

ประเภทของบทความ                                                                   

      1. บทความวิจัย (Research article) คือ งานเขียนที่นำเสนอผลงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย บทคัดย่อ (Abstract) บทนำ (Introduction) วรรณกรรมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (Literature Review) วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methodology)   ผลการวิจัย (Results) อภิปรายผล (Discussion) สรุปและข้อเสนอแนะ (Conclusion and Recommendation) กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) (ถ้ามี) บรรณานุกรม (References)ตัวอย่างการนำเสนอบทความวิจัย https://bit.ly/_Research_article

       2. บทความวิชาการ (Academic article) คือ งานเขียนที่มีความน่าสนใจ นำเสนอองค์ความรู้ใหม่ ลำดับเนื้อหาอย่างเหมาะสม   วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างเป็นระบบโดยมีฐานคิดหรือทฤษฎีรองรับ  ประกอบด้วย  บทคัดย่อ (Abstract) บทนำ (Introduction)  เนื้อเรื่อง (Content) สรุปและข้อเสนอแนะ (Conclusion and Recommendation) และบรรณานุกรม (References) ตัวอย่างการนำเสนอบทควาวิชาการ   https://bit.ly/_Academic_article     

                                 

รูปแบบของต้นฉบับ                                                             

      1. ความยาวของบทความประมาณ 12 – 15 หน้ากระดาษ A4 (รวมบทคัดย่อและบรรณานุกรม)

       2. Font TH Sarabun New                                             

  1. ชื่อเรื่อง    ตัวหนา  ขนาด 20 pt                                   
  2. ชื่อผู้เขียน  ตัวหนา  ขนาด 16 pt                                 
  3. เนื้อเรื่อง  หัวข้อหลัก ตัวหนา ขนาด 18 pt                   
  4. เนื้อเรื่อง   ตัวปกติ ขนาด 16 pt                           
  5. เชิงอรรถ    ตัวปกติ  ขนาด 14 pt                                    
  6. ตั้งค่าหน้ากระดาษ เว้นขอบบน ล่าง ซ้าย ขวาเท่ากัน ด้านละ 1 นิ้ว หรือ 2.54 เซนติเมตร กำหนดระยะห่างระหว่างบรรทัดเท่ากับ 1 และเว้นบรรทัดระหว่างย่อหน้า
  7. ชื่อบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พิมพ์ไว้ตรงกลางหน้าแรก ส่วนชื่อผู้เขียน พิมพ์ชิดขวา
  8. Abstract จำนวน 1 ย่อหน้า ความยาว 250 - 300 คำ และมี keywords ไม่เกิน 3 คำ
  9. บทคัดย่อ จำนวน 1 ย่อหน้า ความยาว 250 - 300 คำ และมีคำสำคัญ ไม่เกิน 3 คำ
  10. เนื้อหาบทความต้องมีสาระสำคัญตามประเภทของบทความ จัดพิมพ์ 1 คอลัมน์ บนกระดาษขนาด A4  ใส่เลขหน้ากำกับทุกหน้าที่มุมบนด้านขวา (ยกเว้นหน้าแรก) พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของภาษาตามหลักไวยากรณ์
  11. ตัวเลขทั้งหมดในบทความ ให้ใช้เลขอารบิกเท่านั้น  การวงเล็บภาษาอังกฤษ ให้ใช้ดังตัวอย่าง                 ความเป็นพลเมือง (Citizenship)  ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital citizenship)
  12. รูปภาพและตาราง (ถ้ามี) ต้องสอดคล้องกับเนื้อหาในต้นฉบับและมีความคมชัด พร้อมระบุหมายเลขกำกับ พิมพ์ตัวหนา เช่น ตารางที่ 1 หรือ Table 1 ไว้ด้านบนของตาราง และ ภาพที่ 1 หรือ Figure 1 ไว้ด้านล่างของภาพ
  13.  การอ้างอิงและบรรณานุกรมใช้หลักเกณฑ์ APA ไม่เกิน 30 รายการ และเป็นการอ้างอิงที่สอดคล้องกับเนื้อหา 

ตัวอย่างการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม https://shorturl.asia/wC450

การส่งต้นฉบับ                                                                             

       1. ขอให้ผู้เขียนอ่านคำแนะนำการจัดเตรียมต้นฉบับอย่างละเอียด                                                                                         

        2. ส่งบทความต้นฉบับ จำนวน 2 ไฟล์                               

             2.1 รูปแบบของไฟล์ Microsoft Word มีรายละเอียดครบถ้วนตามประเภทของบทความวิจัยหรือบทความวิชาการ โดยให้มีเนื้อหา ตาราง และภาพประกอบอยู่ในไฟล์เดียวกัน   

             2.2 รูปแบบของ PDF ที่แปลงจากไฟล์ Microsoft Word โดยในเนื้อหาไม่แสดงชื่อผู้เขียนบทความ และไม่แสดงสังกัดของผู้เขียนบทความ                                                                       

            อนึ่ง สามารถส่งบทความต้นฉบับผ่านระบบ Online Submission ที่เว็บไซต์ของ ThaiJo แต่ในระยะแรกนี้ ขอให้ส่งทางอีเมล j.scholarcom@gmail.com

ลิขสิทธิ์ของบทความ                                                                 

       ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารปราชญ์ประชาคม ห้ามมิให้นำเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากวารสารอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 

เปิดรับบทความ ฉบับที่ 3 พฤษภาคม-มิถุนายน 2568

2025-03-21

เปิดรับบทความ ฉบับที่ 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2568) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2568  

 ผู้เขียนบทความต้องชำระค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในวารสาร

- ภาษาไทย เรื่องละ 2,800 บาท (สองพันแปดร้อยบาทถ้วน)

- ภาษาอังกฤษ เรื่องละ 3,500 บาท (สามพันห้าร้อยบาทถ้วน)

โดยชำระค่าธรรมเนียมและแจ้งการชำระค่าธรรมเนียม พร้อม submission

ชำระเงินที่ธนาคาร “กสิกรไทย” ชื่อบัญชี "บ้านปราชญ์ประชาคม" เลขที่บัญชี 206-1-18355-0 ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะไม่คืนให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ 

         ทั้งนี้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียม จากผู้เขียนที่ submission บทความตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

          การแจ้งการชำระค่าธรรมเนียม ขอให้แจ้งรายละเอียดโดยการกรอกแบบฟอร์มในที่ลิงค์ 

https://forms.gle/cQKBzcNeAjgC2a9P6

Vol. 3 No. 1 (2568): January-February

"Whatever you are, be a good one"

“ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร จงเป็นสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”

อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 สหรัฐอเมริกา

วารสารปราชญ์ประชาคม ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2568) ได้รับการรับรองจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จัดให้เป็นวารสารคุณภาพกลุ่มที่ 2 รอบที่ 5 (พ.ศ.2568-2572)  เป็นการต้อนรับศักราชใหม่ในโลโก้หมายเลข 2 อาบสีเงิน จากแรกเริ่มก้าวเดินเหินหาวเข้าสู่ปีที่ 3 จึงเป็นความปริ่มใจของทีมงานและพันธมิตรทางวิชาการ แม้คอยรอเฝ้าแหงนฟังผลประกาศที่ลุ้นอยู่นาน แล้วนั้นปณิธานจึงได้สมปรารถนาเป็นวารสารคุณภาพที่คู่ควรแก่การรับรองของ ThaiJO กฎแห่งกรรมพิสูจน์ได้ว่ากาลเวลาของชีวิตมิได้หมุนผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ได้ฝากเรื่องราวนานาสาระและไร้สาระฝังไว้ในใจของมนุษย์ แม้นว่าจะสุขหรือทุกข์ สมหวังหรือผิดหวังประการใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นได้ลงมือทำสิ่งใดให้จิตใจได้จดจำไว้บ้าง เพราะทุกผลสัมฤทธิ์ของพฤติกรรมย่อมมีรางวัลที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่วแฝงเร้นอยู่เสมอ

เทศกาลแห่งเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 12 ของศกนี้ เป็นวันมาฆบูชา โอวาทปาติโมกข์ที่เป็นหัวใจสำคัญด้วยหลักการ วิธีการ และอุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนาโดยการคิดดี พูดดี ทำดี และปรารถนาดีต่อผู้อื่น ชาวพุทธทั้งหลายให้ความสำคัญวันนี้ว่าเป็นวันที่ภักดิ์พร้อมน้อมรำลึกสักการะพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หนุนเสริมความเป็นพุทธมามกะตั้งสัตยาธิษฐานด้วยการสร้างความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้สะอาด เพราะพุทธองค์ทรงประกาศว่า “ผลผลิตที่เราเก็บเกี่ยวได้นั้น ย่อมมาจากเมล็ดพันธุ์ที่เราได้ปลูกหว่านไว้”

เมื่อไร้ยศศักดิ์ ก็วิ่งเต้นหาตำแหน่งแย่งอำนาจครอง

เมื่อมีความทุกข์ ก็กระเสือกกระสนแสวงหาความสุขไว้

เมื่อมีความเสียใจ ก็ขวนขวายให้ได้ความดีใจ

เมื่อมีเสียงติฉินนินทา ก็ดิ้นรนเสาะหาเสียงสรรเสริญ

เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ชอบ ก็พร้อมมอบชีวิตและจิตวิญญาณเพื่อให้ได้ในสิ่งชอบ

วิ่ง วิ่ง และวิ่งในวังวน วุ่นวาย วนเวียน เสาะแสวงหาอยู่อย่างนี้โดยไม่มีเส้นชัยและไร้ขีดจำกัด พุทธศาสน์ เรียกสิ่งนี้ว่า “สังสารวัฏ”

อนึ่ง วันที่ 14 กุมภาฯ หรือวันวาเลนไทน์ สัญญเวลาแห่งความรัก จากความเชื่อศรัทธาโบราณว่าพลังแรงเร้าแห่งความรัก สืบจากพระพรหมลิขิต พระเจ้าเสกสรรค์สร้าง บุพเพสันนิวาส หรือทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน ความรักของกันและกันจึงสุขสุดสดใส ยามรักยามใคร่อะไรก็ใช่รัก น้ำต้มผักขมก็ชมว่าหวาน (เจี๊ยบ) ชี้นกเป็นกิ่งไม้ก็ว่าใช่ ชี้คลองไส้ไก่เป็นทะเลก็หาได้ปฏิเสธ เพราะรักนั้นไม่มีพรมแดน รักนี้ชั่วนิรันดร์ รักคุณเท่าฟ้า รักไม่มีเงื่อนไข จวบถึงจุดเสื่อมรัก หมดเวลารัก จากเหตุผลอ้างมือที่สาม จุดอิ่มตัว ทัศนคติไม่ตรงกัน หรือดีเกินไป สารพัดแงะงัดเพื่อสลัดรัก หลากหลาย Motto ของความรักที่สืบค้นได้จากโลกออนไลน์ อาทิว่า

“ความรักต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล เป็นคุณลักษณะที่มีเกียรติที่สุดของมนุษยชาติ”

“หากคุณรักดอกไม้ อย่าเก็บมันขึ้นมา เพราะถ้าคุณเก็บมันขึ้นมา ดอกไม้ก็จะเหี่ยวเฉาและไม่ใช่สิ่งที่คุณรักอีกต่อไป ดังนั้นหากคุณรักดอกไม้ ก็จงปล่อยให้มันเป็นไปในสิ่งที่ควรจะเป็น ความรักจึงมิใช่การครอบครอง ความรักคือการชื่นชม”

“ความรักที่ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่การครอบครอง แต่เป็นการเฝ้ามองคนที่เรารักมีความสุขและการเติบโตของเขาในพื้นที่ของเรา”

“อย่าได้เป็นมือที่สาม ทำลายความงดงามของความรัก อย่าได้ทอดสะพานเพื่อทำความรู้จักกับคู่รักของ  คนอื่น เพราะความรักต้องเกิดขึ้นด้วยความถูกต้องและบริสุทธิ์ใจ มิใช่แย่งชิงใครมาเพื่อครอบครอง”

“เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต เราจะรู้ว่าความรักมิได้มีไว้เพื่อครอบครองแต่ความรักมีไว้เพื่อดูแล ห่วงใยใส่ใจ และคิดถึง ถึงแม้ว่าเราจะมิได้อยู่เคียงข้างกันก็ตาม”

“ความรัก มิใช่การครอบครอง มิใช่ข้าวปลาอาหาร มิใช่สิ่งของหรือเงินทอง มิใช่ความหลงงมงาย มิใช่สิ่งไร้ความหมาย ดังนั้นอย่าต้องตายเพราะไม่ได้มา”

“ถ้าคุณรักใครคนหนึ่ง จงปล่อยเขาไป ถ้าเขากลับมาหาคุณ ก็แสดงว่าเขาเป็นของคุณ แต่ถ้าเขาไม่กลับมา ก็แสดงว่าเขาไม่เคยเป็นของคุณ”

“ความรักหรือความมีเยื่อใยต่อกัน คือการสมประโยชน์ระหว่างกัน หากไร้ประโยชน์หรือหมดเยื่อใยต่อกัน วันหนึ่งวันนั้นจึงเป็นวันสิ้นรัก สิ้นเสน่หา”

เพราะคู่สร้างคู่สมที่ยอมเป็นคู่ครอง มีเหตุมาจากศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมสัทธา สมสีลา สมจาคา สมปัญญา) ชื่อว่า “สมรส” (รสนิยมที่เหมือนกัน) ย่อมนำให้เกิดมีคู่รักที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ดังนั้น สรรพสิ่งที่อิงอาศัยกัน จึงมีความสัมพันธ์กันเพื่อประสานพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีงามยิ่งขึ้นตามสมัยนิยม และเพราะรักในสิ่งที่ทำ คือ วารสารออนไลน์ที่ชื่อว่า “ปราชญ์ประชาคม” ด้วยอุดมการณ์ที่เสมอกันของสมาชิก จึงเป็นเหตุให้มีข้อผูกพันกันด้วยความรู้และน้ำใจ หวังเพียงได้บริการสังคมเพื่อสร้างการเรียนรู้ เข้าใจ และนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามตามอุดมการณ์ร่วมสมัย หาใช่เพื่อเสริมสร้างอัตตาให้เหนือใครไม่

ในโอกาสนี้ ขอขอบพระคุณ ขอบใจทุกท่านที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอความรู้ด้วยหลักการและปฏิบัติการ เสริมสร้างพื้นที่ให้ “ปราชญ์ประชาคม” เป็นวารสารคุณภาพอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าสิ่งดีงามใด ๆ ที่เราได้สร้างสมไว้ ท้ายที่สุดสิ่งนั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างเราให้มีคุณค่าอย่างสง่างาม ตราบนิรันดร์

                                                                                                     บรรณาธิการ

Published: 2025-02-28

View All Issues