"Whatever you are, be a good one"

“ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร จงเป็นสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”

อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 สหรัฐอเมริกา

วารสารปราชญ์ประชาคม ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2568) ได้รับการรับรองจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จัดให้เป็นวารสารคุณภาพกลุ่มที่ 2 รอบที่ 5 (พ.ศ.2568-2572)  เป็นการต้อนรับศักราชใหม่ในโลโก้หมายเลข 2 อาบสีเงิน จากแรกเริ่มก้าวเดินเหินหาวเข้าสู่ปีที่ 3 จึงเป็นความปริ่มใจของทีมงานและพันธมิตรทางวิชาการ แม้คอยรอเฝ้าแหงนฟังผลประกาศที่ลุ้นอยู่นาน แล้วนั้นปณิธานจึงได้สมปรารถนาเป็นวารสารคุณภาพที่คู่ควรแก่การรับรองของ ThaiJO กฎแห่งกรรมพิสูจน์ได้ว่ากาลเวลาของชีวิตมิได้หมุนผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ได้ฝากเรื่องราวนานาสาระและไร้สาระฝังไว้ในใจของมนุษย์ แม้นว่าจะสุขหรือทุกข์ สมหวังหรือผิดหวังประการใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นได้ลงมือทำสิ่งใดให้จิตใจได้จดจำไว้บ้าง เพราะทุกผลสัมฤทธิ์ของพฤติกรรมย่อมมีรางวัลที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่วแฝงเร้นอยู่เสมอ

เทศกาลแห่งเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 12 ของศกนี้ เป็นวันมาฆบูชา โอวาทปาติโมกข์ที่เป็นหัวใจสำคัญด้วยหลักการ วิธีการ และอุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนาโดยการคิดดี พูดดี ทำดี และปรารถนาดีต่อผู้อื่น ชาวพุทธทั้งหลายให้ความสำคัญวันนี้ว่าเป็นวันที่ภักดิ์พร้อมน้อมรำลึกสักการะพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หนุนเสริมความเป็นพุทธมามกะตั้งสัตยาธิษฐานด้วยการสร้างความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้สะอาด เพราะพุทธองค์ทรงประกาศว่า “ผลผลิตที่เราเก็บเกี่ยวได้นั้น ย่อมมาจากเมล็ดพันธุ์ที่เราได้ปลูกหว่านไว้”

เมื่อไร้ยศศักดิ์ ก็วิ่งเต้นหาตำแหน่งแย่งอำนาจครอง

เมื่อมีความทุกข์ ก็กระเสือกกระสนแสวงหาความสุขไว้

เมื่อมีความเสียใจ ก็ขวนขวายให้ได้ความดีใจ

เมื่อมีเสียงติฉินนินทา ก็ดิ้นรนเสาะหาเสียงสรรเสริญ

เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ชอบ ก็พร้อมมอบชีวิตและจิตวิญญาณเพื่อให้ได้ในสิ่งชอบ

วิ่ง วิ่ง และวิ่งในวังวน วุ่นวาย วนเวียน เสาะแสวงหาอยู่อย่างนี้โดยไม่มีเส้นชัยและไร้ขีดจำกัด พุทธศาสน์ เรียกสิ่งนี้ว่า “สังสารวัฏ”

อนึ่ง วันที่ 14 กุมภาฯ หรือวันวาเลนไทน์ สัญญเวลาแห่งความรัก จากความเชื่อศรัทธาโบราณว่าพลังแรงเร้าแห่งความรัก สืบจากพระพรหมลิขิต พระเจ้าเสกสรรค์สร้าง บุพเพสันนิวาส หรือทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน ความรักของกันและกันจึงสุขสุดสดใส ยามรักยามใคร่อะไรก็ใช่รัก น้ำต้มผักขมก็ชมว่าหวาน (เจี๊ยบ) ชี้นกเป็นกิ่งไม้ก็ว่าใช่ ชี้คลองไส้ไก่เป็นทะเลก็หาได้ปฏิเสธ เพราะรักนั้นไม่มีพรมแดน รักนี้ชั่วนิรันดร์ รักคุณเท่าฟ้า รักไม่มีเงื่อนไข จวบถึงจุดเสื่อมรัก หมดเวลารัก จากเหตุผลอ้างมือที่สาม จุดอิ่มตัว ทัศนคติไม่ตรงกัน หรือดีเกินไป สารพัดแงะงัดเพื่อสลัดรัก หลากหลาย Motto ของความรักที่สืบค้นได้จากโลกออนไลน์ อาทิว่า

“ความรักต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล เป็นคุณลักษณะที่มีเกียรติที่สุดของมนุษยชาติ”

“หากคุณรักดอกไม้ อย่าเก็บมันขึ้นมา เพราะถ้าคุณเก็บมันขึ้นมา ดอกไม้ก็จะเหี่ยวเฉาและไม่ใช่สิ่งที่คุณรักอีกต่อไป ดังนั้นหากคุณรักดอกไม้ ก็จงปล่อยให้มันเป็นไปในสิ่งที่ควรจะเป็น ความรักจึงมิใช่การครอบครอง ความรักคือการชื่นชม”

“ความรักที่ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่การครอบครอง แต่เป็นการเฝ้ามองคนที่เรารักมีความสุขและการเติบโตของเขาในพื้นที่ของเรา”

“อย่าได้เป็นมือที่สาม ทำลายความงดงามของความรัก อย่าได้ทอดสะพานเพื่อทำความรู้จักกับคู่รักของ  คนอื่น เพราะความรักต้องเกิดขึ้นด้วยความถูกต้องและบริสุทธิ์ใจ มิใช่แย่งชิงใครมาเพื่อครอบครอง”

“เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต เราจะรู้ว่าความรักมิได้มีไว้เพื่อครอบครองแต่ความรักมีไว้เพื่อดูแล ห่วงใยใส่ใจ และคิดถึง ถึงแม้ว่าเราจะมิได้อยู่เคียงข้างกันก็ตาม”

“ความรัก มิใช่การครอบครอง มิใช่ข้าวปลาอาหาร มิใช่สิ่งของหรือเงินทอง มิใช่ความหลงงมงาย มิใช่สิ่งไร้ความหมาย ดังนั้นอย่าต้องตายเพราะไม่ได้มา”

“ถ้าคุณรักใครคนหนึ่ง จงปล่อยเขาไป ถ้าเขากลับมาหาคุณ ก็แสดงว่าเขาเป็นของคุณ แต่ถ้าเขาไม่กลับมา ก็แสดงว่าเขาไม่เคยเป็นของคุณ”

“ความรักหรือความมีเยื่อใยต่อกัน คือการสมประโยชน์ระหว่างกัน หากไร้ประโยชน์หรือหมดเยื่อใยต่อกัน วันหนึ่งวันนั้นจึงเป็นวันสิ้นรัก สิ้นเสน่หา”

เพราะคู่สร้างคู่สมที่ยอมเป็นคู่ครอง มีเหตุมาจากศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมสัทธา สมสีลา สมจาคา สมปัญญา) ชื่อว่า “สมรส” (รสนิยมที่เหมือนกัน) ย่อมนำให้เกิดมีคู่รักที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ดังนั้น สรรพสิ่งที่อิงอาศัยกัน จึงมีความสัมพันธ์กันเพื่อประสานพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีงามยิ่งขึ้นตามสมัยนิยม และเพราะรักในสิ่งที่ทำ คือ วารสารออนไลน์ที่ชื่อว่า “ปราชญ์ประชาคม” ด้วยอุดมการณ์ที่เสมอกันของสมาชิก จึงเป็นเหตุให้มีข้อผูกพันกันด้วยความรู้และน้ำใจ หวังเพียงได้บริการสังคมเพื่อสร้างการเรียนรู้ เข้าใจ และนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามตามอุดมการณ์ร่วมสมัย หาใช่เพื่อเสริมสร้างอัตตาให้เหนือใครไม่

ในโอกาสนี้ ขอขอบพระคุณ ขอบใจทุกท่านที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอความรู้ด้วยหลักการและปฏิบัติการ เสริมสร้างพื้นที่ให้ “ปราชญ์ประชาคม” เป็นวารสารคุณภาพอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าสิ่งดีงามใด ๆ ที่เราได้สร้างสมไว้ ท้ายที่สุดสิ่งนั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างเราให้มีคุณค่าอย่างสง่างาม ตราบนิรันดร์

                                                                                                     บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2025-02-28

คุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม

ปรัชญา บุตรสะอาด, พระใบฎีกาชาญชัย อคฺคธมฺโม

58-69

ทวารวดี เมืองนครปฐมโบราณ: ศึกษาและตีความทางสังคม

มานพ นักการเรียน, พระมหาวีระชาติ โปธา , วิญญู กินะเสน, บานชื่น นักการเรียน , ฉัชศุภางค์ สารมาศ

70-85