สิ่งใดเมื่อถึงที่สุดแล้ว สิ่งนั้นย่อมเป็นธรรมดา การกิน นอน กาม เกียรติ ก็เช่นกัน

 

วารสารปราชญ์ประชาคม ปีที่ 2 ฉบับที่ 5  วาระของเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567  มีข่าวฮอตประเด็นร้อนในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ร้านขายทองออนไลน์บ้างและบริษัทแบรนด์ชื่อดังขายของทางออนไลน์บ้าง ต้นทางแห่งความเดือดร้อนของผู้เข้าร่วมลงทุนในเครือข่ายที่ต่างเฝ้าฝันจะเป็นเศรษฐีขายของออนไลน์แบบไม่ลำเข็ญ จากการเห็นคำโฆษณาที่เลิศหรูดูประหนึ่งว่าความเป็นเศรษฐีสามารถไปสอยเอาได้จากกัลปพฤกษ์ต้นไม้แห่งอุดมคติที่มีความสมบูรณ์พูนสุขตามคติไทยโบราณ แล้วสุดท้าย ก็เป็นฝันสลายและขวัญผวาของเหยื่อนับหมื่นราย รวมเป็นความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท

ความรวย ความจน ความดี ความเลว  ความผิด ความถูก ความจริง ความเท็จ มายาคติของมนุษยชนเป็นวังวนการสร้างคุณค่าที่ต่างลากเอาเหตุผลเข้ามาหาตนเพื่อผลประโยชน์ บางเวลาผู้เขียนได้เห็นบุคคลมีชื่อเสียงออกสื่อกระแสหลัก ชี้นำทางดีทางรอดของสังคม ให้ความรู้ความเข้าใจสารัตถชีวิต มุ่งมั่นหวังดีต่อผู้อื่น ย่อมทำให้ผู้ชมผู้ฟังชื่นใจในความเป็นคนดีมีศีลสัตย์ ความฉ่ำจิตได้บังเกิดประเสริฐแท้ แต่อีกมุมหนึ่ง ในคราบของนักบุญหรือคนดี เป็นนักร้องเรียนโดยอาชีพ สร้างภาพอ้างเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่เจ้าเล่ห์เพทุบาย กระหายอำนาจ จอมตบทรัพย์ หวังดีประสงค์ร้าย เสแสร้งแกล้งทำ หลอกลวงต้มตุ๋น ทำชั่วทรามทุกอย่างเพื่อหวังผลประโยชน์ให้ตนเอง ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้ผู้รับข่าวสารตั้งคำถามว่า “ในสังคมนี้เรานั้นจะไว้เนื้อเชื่อใจใครอื่นได้อีก ในเมื่อคนเคยไว้วางใจกลับได้แปรเปลี่ยนไป ใช่คนเดิมที่เคยหลงคิดว่าเป็นดีมีศีลธรรม” มีทั้งความดีและความชั่ว เทพและมาร มาพร้อมกับอวตารมนุษย์

ยุคที่ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ผลผลิตจากวิทยาศาสตร์ได้มาหักร้างหรือปฏิเสธความเชื่อ ค่านิยม โลกทัศน์ และจารีตแบบดั้งเดิม อาทิ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อำนาจเกินมนุษย์ พลังวิเศษเหนือเหตุผลต่างๆ อันสร้างขึ้นโดยคนที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้ห้อยโหนจากความเศรัทธามหาชน แต่งองค์ทรงเครื่องคอสเพลย์เป็นลิเก บ้างมีคอสวมใส่ลูกประคำขนาดเท่าไส้กรอกอีสาน บ้างสักยันต์เป็นลวดลายจิ้งจกตุ๊กแก บ้างนั่งวางมาดเคร่งเพ่งดวงตะวัน บ้างอมน้ำหมากปากขมุบขมิบ บ้างพร่ำมนต์ตาเหลือก บ้างนั่งสั่นชักกระตุก บ้างเป่าลมเป็นมนต์มืด บ้างเขียนยันต์กลางอากาศ บ้างเขียนยันต์ลงมือหรือหน้าผากอ้างเป็นสูตรโบราณสืบสานงานบรมครูบูรพาจารย์ ต่างได้สร้างผลงานของตนให้คนอวยชมนิยมบูชาทั้งโลกนี้และโลกหน้า ในขณะที่หมู่คนอีกจำพวกมองว่าเป็นเรื่องหลอกลวง วิปริตผิดเพี้ยน และไม่สร้างสรรค์สังคมพัฒนา แม้จะอ้างคำเดิม ๆ ว่า “ไม่เชื่อแต่อย่างลบหลู่” ก็ตาม

Digital Footprint หรือรอยเท้าบนโลกดิจิทัล ร่องรอยดิจิทัลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้จะถูกบันทึกเอาไว้เป็นมรดกของคนรุ่นต่อไป ใครดีใครชั่ว ใครถูกใครผิดจะอยู่เป็นอนุสรณ์อมตะให้อนุชนได้พิเคราะห์อย่างเย้ยหยันหรือยกย่องอย่างดีงามตามปรากฏ ลูกๆ หลาน ๆ ไทยจะพูดถึงคนปัจจุบันที่จะเป็นบรรพชนแห่งอนาคตในลักษณะใด ทั้งนี้พฤติกรรมวันนี้จะเป็นผลลัพธ์ของทุกคนที่จะพึงได้รับในวันถัดไป ดังนั้น ความละอายและความเกรงกลัวบาป (ความเดือดร้อนที่จะเกิดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น) สองคำนี้ หิริและโอตตัปปะ จึงเรียกว่า “เทวธรรม” หรือธรรมะสำหรับสร้างให้เป็นคนดี ไม่กล้าทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง  สังคมต้นแบบของศีลธรรมที่ดีงาม ใช่ว่าจำต้องวิ่งตามหาบุคคลหรือดูดเอาความดีจากผู้วิเศษตามกระแสนิยมไม่ แต่ควรเป็นเราทุกคนปัจเจกชนของแต่ละคนที่ต่างต้องรับผิดชอบในกรอบชีวิตของตน สร้างความมีระเบียบวินัยตามกฎหมายและจารีตสังคม ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ เคารพสิทธิของมนุษย์อย่างเท่าเทียม มีความเอื้ออารีสิ่งที่เป็นคุณูปการต่อกัน ให้ความสำคัญต่อสาธารณประโยชน์เชิงประจักษ์มากกว่าการจำนนต่อความศักดิ์สิทธิ์ และสำนึกว่าเรานี้เป็นเพียงเศษอณูน้อยๆ ในเอกภพ ได้แวะผ่านมาแค่อาศัยโลกนี้ สักวันหนึ่งเราท่านทุกคนต่างต้องจากกัน วันเวลาที่เปลี่ยนผ่าน อีกไม่นานคนรุ่นต่อมา ต้องได้ลืมเราทุกคนเสมอกัน

“หายนะทางสังคมย่อมเกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่นและไม่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน” วารสารปราชญ์ประชาคม จึงขอสนับสนุนความคิดดี ทำดี และปรารถนาดีต่อกัน ขอเชิดชูการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในสังคมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้มนุษย์ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ขอส่งเสริมการเรียนรู้พัฒนาตนเองให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป โดยผ่านการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่ไม่วันใดก็วันหนึ่งร่างกายของเรานี้จะกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสง่างามตราบนิรันดร์

                                                                               บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2024-10-31

“PROT Model” นวัตกรรมการบริหารสถานศึกษาด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและสถานศึกษาปลอดภัย ของโรงเรียนพรตพิทยพยัต

ศิวาพัชญ์ บำรุงเศรษฐพงษ์, อาภาพร วรรณสุนธยา, อุทัย นุ่นดำ, กุลสตรี มีอัฐมั่น, สมฤดี พูนผล , ยุภาพร อินทรีวอน

14-27

จริยธรรมทางการเมืองในศตวรรษที่ 21: โอกาสและความท้าทาย

วรเชษฐ์ โทอื้น, พระกฤษดา ธมฺมสาโร (สาระวิต) , สุรศักดิ์ พุทธา

58-72

ประชาธิปไตยท้องถิ่น กับแนวคิดการกระจายอำนาจการปกครอง

วรพจน์ ก้องเสนาะ , พิรจักษณ์ ฉันทวิริยสกุล , สุขสรร ทองที

73-88