ความชรา มีซ่อนอยู่ในความหนุ่มสาว

ความเจ็บป่วย มีซ่อนอยู่ในสุขภาพที่แข็งแรง

ความตาย มีซ่อนอยู่ในสรรพชีวิต

ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีซ่อนอยู่ในทุกผู้คน

 

วารสารปราชญ์ประชาคม ฉบับที่ 2 ของปีที่ 2 ประจำเดือน มีนาคม-เมษายน 2567  ว่าด้วยบ้านเมืองปัจจุบันของวันนี้ ร้อนระอุอบอ้าวในอุณหภูมิเมืองไทยเฉลี่ยกว่า 40 องศา บนความผันแปรของฝนฟ้าอากาศ ผสมปนกับปัญหาเรื้อรังด้วยมลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 ที่คงครองแชมป์อันดับต้นๆ ของโลก นำสู่สาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายมะเร็งปอดของอาจารย์หญิงผู้ทรงความรู้ความสามารถจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในภาคเหนือของไทย พร้อมกับข่าวพฤติกรรมความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าของกลุ่มสาวกที่แห่แหนเชื่อมั่นในความวิเศษของมนุษย์เด็กในรูปแบบแปลกๆ จากการเชื่อมจิต เจาะจิต เติมจิต และฟอกจิต ที่ต่างเป็นเอกสิทธิ์ทางความเชื่อเฉพาะตน

จากนานาสารพันปัญหาที่รุมล้อมกล่อมเกลาสังคมโลก การใฝ่เรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะในอดีตกาลนั้น การไร้โอกาสทางการศึกษาของเยาวชนพลเมืองไทย คือ ปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งโลกไร้พรมแดนอันชื่อว่าโลกาภิวัตน์ เป็นบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ AI ที่ถูกพัฒนาให้สามารถปฏิบัติการแทนมนุษย์ได้หลายด้านไม่ว่าจะเป็นการคิดการกระทำอย่างมีเหตุผล สิ่งสำคัญที่ทำให้ AI มีสติปัญญาและการเรียนรู้เหมือนมนุษย์ คือ การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning : ML) ซึ่งเป็นวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้เข้าใจความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ป้อนเข้า (Input) และสร้างผลลัพธ์การตอบสนองต่อข้อมูล (Output) ขึ้นมาได้เอง ทำให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือ เทคโนโลยีที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกวิชาชีพ ทุกสถานะ ทุกเวลา และทุกสถานที่อย่างมากมาย เช่น ด้านสุขภาพการแพทย์ ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ด้านภาษาสื่อสาร ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

สภาพแวดล้อมจาก AI ที่สร้างสรรค์จะนำพาไปสู่สังคมที่ดีงาม แล้วสังคมที่สมบูรณ์พูนผลจะโอบอุ้มปัจเจกชนให้เป็นคนคุณภาพของแผ่นดิน โดยลักษณะนี้ เยาวชนพลเมืองของชาติไทย ก็เช่นกัน เป้าหมายการพัฒนาคงมิใช่แค่ความเป็นเลิศเหนือกว่าใครอื่น แต่หัวใจสำคัญคือการเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายอันจะพึงอุบัติขึ้นในอนาคต การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับยุวชนของชาติ จึงเป็นภารกิจสำคัญของคนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการเฝ้าระวัง ขจัดปัญหาที่คงมีอยู่ พร้อมทั้งการสร้างแนวทางป้องกันปัญหาให้สมาชิกในสังคมได้ตระหนักและตื่นรู้ มุ่งหน้าสู่ความฝันอย่างตั้งใจ และได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนโหยหา

วารสารปราชญ์ประชาคม จึงขอเป็นพื้นที่แห่งวิทยาการเพื่อให้สังคมเกิดพลวัตพัฒนา และเชื่อมั่นว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จกับบุคคลทั่วไป ไม่ได้อยู่ที่พละกำลังหรือความรอบรู้ แต่คือ “ความตั้งใจ” ตามคำบาลีว่า “อธิฏฺฐานํ” อธิษฐาน จึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ (Passion) ในการใช้ชีวิตเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ  มิใช่การบวงสรวงอ้อนวอนต่อหน้าพระพุทธรูป เทพไท้ทรงฤทธิ์ หรือความศักดิ์สิทธิ์อื่นใดอันเกิดจากอำนาจนอกตน แต่ผลสำเร็จทั้งปวงย่อมเป็นพลังของมนุษย์อันเกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่นทุ่มเทด้วยแรงกายและแรงใจของตนเพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ตั้งไว้  ดังคติพจน์ “ยิ่งศึกษายิ่งนำหน้า ยิ่งพัฒนายิ่งไปไกล เพราะความสำเร็จไม่เคยให้ใครย่ำอยู่กับที่เดิม

                                                                                                                                                          บรรณาธิการ

                                                                 

เผยแพร่แล้ว: 2024-04-30

การพัฒนาทักษะอาชีพทุกช่วงวัยโดยใช้โครงงานเป็นฐาน

วราวิชญ์ สุขวรเวท, กฤศกมล อภิบาลศรี , ธีรังกูร วรบำรุงกุล, อรุณเกียรติ จันทร์ส่งแสง

57-72