บทบาทของผู้บริหารท้องถิ่นต่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่องค์การบริหาร ส่วนตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

Main Article Content

ปราณี ชูแก้ว
รัฐบุรุษ คุ้มทรัพย์

บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการพัฒนาชุมชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล นาโพธิ์อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2) เพื่อศึกษาบทบาทของผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของบทบาทผู้บริหารท้องถิ่นกับการพัฒนาชุมชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่เขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จาก 5 หมู่บ้าน จำนวน 6,326 คน คน คำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการของ ทาโร่ ยามาเน่ ได้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยทั้งสิ้น จำนวน 376 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเชิงสำรวจ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
        ผลการศึกษาพบว่า
        1. ข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เป็นเพศชายมากที่สุด จำนวน 225 คน คิดเป็น ร้อยละ 59.8 รองลงมา เป็นเพศหญิง จำนวน 151 คน คิดเป็น ร้อยละ 40.2 ตามลำดับ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มีอายุระหว่าง 26-40 ปี มากที่สุด จำนวน 148 คน คิดเป็น ร้อยละ 39.4 การศึกษาในระดับ ปริญญาตรี มากที่สุด จำนวน 190 คน คิดเป็นร้อยละ 50.5 มีอาชีพเป็นพนักงานหรือลูกจ้างบริษัทเอกชน มากที่สุด จำนวน 86 คน คิดเป็น ร้อยละ 22.9 และ มีระดับรายได้ระหว่าง 15,001-25,000 บาท มากที่สุด จำนวน 150 คน คิดเป็น ร้อยละ 39.9
        2. ระดับการพัฒนาชุมชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในภาพรวม พบว่า อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน ปัจจัยมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมา ได้แก่ ด้านการเสริมพลังประชาชน ด้าน
สังคมและวัฒนธรรม และ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ
        3. ระดับบทบาทของผู้บริหารท้องถิ่นต่อการพัฒนาชุมชนพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในภาพรวม พบว่า อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสูงสุด คือ ด้านการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณี มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดรองลงมา ได้แก่ ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชน ด้านการเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอรับความช่วยเหลือ ด้านการเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน และด้านการแก้ไขปัญหาในชุมชน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากตามลำดับ
        4. บทบาทของผู้บริหารท้องถิ่นในภาพรวม มีความสัมพันธ์กับการการพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระดับสูงมาก (rxy = .992**) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเรียงลำดับตามระดับความสัมพันธ์ของบทบาท ได้แก่ ด้านการเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน รองลงมา ด้านการแก้ไขปัญหาชุมชน ด้านการเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอความช่วยเหลือ และด้านการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณี ตามลำดับ และเรียงลำดับตามระดับความสัมพันธ์ของการพัฒนาชุมชนได้ ดังนี้ คือ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รองลงมา ด้านการเสริมพลังประชาชน ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย