การพัฒนาตัวบ่งชี้ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครู

ผู้แต่ง

  • ศิริเดช เทพศิริ สาขาวิชานิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 10330
  • จุไรรัตน์ สุดรุ่ง ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 10330

คำสำคัญ:

การพัฒนาตัวบ่งชี้, ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศ, การนิเทศ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาตัวบ่งชี้ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครู 2) ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลตัวบ่งชี้ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครูกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ประชากรคือ ครูระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 และ 2 กรุงเทพมหานคร โดยตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มีจำนวน 486 คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือในการวิจัยมี 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1) แบบประเมินองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ของทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครู 2) แบบสอบถามทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครู ซึ่งเป็นแบบตรวจสอบรายการและแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ใช้การสังเคราะห์เนื้อหาในการสร้างองค์ประกอบ และให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือในด้านความตรงเชิงเนื้อหา โดยตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับนิยามของตัวบ่งชี้ ความครอบคลุมของข้อคำถาม โดยใช้ดัชนีความสอดคล้องของข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์การกระจาย รวมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบ่งชี้ด้วยการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows Version 21 และวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สอง สำหรับโมเดลตัวบ่งชี้ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครูกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยโปรแกรม LISREL Version 8.0 ผลการพัฒนาตัวบ่งชี้ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครู พบว่า ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครูมี 3 องค์ประกอบ 16 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ (1) องค์ประกอบด้านปัญญา คือ 1.1) มีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการนิเทศ 1.2) มีความเข้าใจในเรื่องการนิเทศ 1.3) มีความเชื่อมั่นว่าการนิเทศเป็นการพัฒนาวิชาชีพของครู (2) องค์ประกอบด้านความรู้สึก คือ 2.1) เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการนิเทศ 2.2) มีความยินดีและเต็มใจที่จะรับการนิเทศ 2.3) ยอมรับและไว้วางใจผู้นิเทศ (3) องค์ประกอบด้านพฤติกรรม คือ 3.1) ยอมรับฟังผลการนิเทศและข้อเสนอแนะด้วยความเต็มใจ 3.2) ให้ความร่วมมือกับผู้นิเทศเป็นอย่างดี 3.3) นำผลการนิเทศไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอน 3.4) มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง 3.5) มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้นิเทศ  3.6) มีส่วนร่วมในการจัดการนิเทศภายในโรงเรียน 3.7) ช่วยเหลือเพื่อนครูโดยใช้กระบวนการนิเทศ 3.8) จูงใจและสร้างขวัญกำลังใจแก่เพื่อนครูให้มีทัศนคติที่ดีต่อการนิเทศ 3.9) สนับสนุนและส่งเสริมให้เพื่อนครูเข้ารับการนิเทศหรือเข้าร่วมกิจกรรมการนิเทศ 3.10) ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน ในการตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครูกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สอง พบว่าโมเดลทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครูมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2(59, N = 486) = 74.26, p = .09, GFI = .98, AGFI = .96, RMR < .01, RMSEA = .02)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-22

How to Cite

เทพศิริ ศ., & สุดรุ่ง จ. . (2023). การพัฒนาตัวบ่งชี้ทัศนคติเชิงบวกต่อการนิเทศของครู. วารสารวิธีวิทยาการวิจัย, 36(2), 164–178. สืบค้น จาก https://so12.tci-thaijo.org/index.php/jrm/article/view/551

ฉบับ

บท

บทความวิจัย