ขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมกับความยาวแบบสอบสำหรับ การประมาณค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบตามทฤษฎี การตอบสนองข้อสอบ
คำสำคัญ:
ขนาดตัวอย่าง, ความยาวแบบสอบ, ค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบ, ทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบบทคัดย่อ
ปัญหาสำคัญของทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ (item response theory: IRT) คือต้องมีขนาดตัวอย่าง ที่ใหญ่เพียงพอจึงจะประมาณค่าพารามิเตอร์ได้อย่างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ เวลา และกำลังคน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาหาขนาดตัวอย่างต่ำสุดที่เหมาะสมกับความยาวแบบสอบขนาดต่าง ๆ ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของความยาวแบบสอบและขนาดตัวอย่างที่มีต่อการประมาณค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบใน IRT ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยเป็นข้อมูลทุติยภูมิจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นข้อมูลผลการตอบข้อสอบรายข้อจากการทดสอบ O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เฉพาะข้อสอบแบบเลือกตอบที่ให้คะแนนแบบ 2 ค่า จำนวน 3 ความยาวแบบสอบ ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ วิชาภาษาไทย จำนวน 40 ข้อ และวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 50 ข้อ กำหนดขนาดตัวอย่างที่เป็นตัวแทนค่าพารามิเตอร์ที่แท้จริง แบบสอบละ 5,000 คน ส่วนขนาดตัวอย่างสำหรับศึกษาตามเงื่อนไข จำนวน 6 ขนาด ได้แก่ 200, 300, 400, 500, 700 และ 1,000 คน โดยใช้แผนการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม R และ SPSS กำหนดเกณฑ์เปรียบเทียบผลการประมาณค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบกับค่าพารามิเตอร์ที่แท้จริงด้วยโมเดลแบบ 3 พารามิเตอร์ โดยต้องมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) ≥ .70 และค่ารากที่สองของ ความแตกต่างกำลังสองเฉลี่ย (RMSD) ≤ 0.33 ในทุกพารามิเตอร์ (a, b, c) ผลการวิจัย พบว่าแบบสอบ ที่มีความยาว 20 ข้อ ควรใช้ขนาดตัวอย่างมากกว่า 1,000 คน ส่วนแบบสอบที่มีความยาว 40 ข้อ ควรใช้ขนาดตัวอย่างขั้นต่ำ 700 คน และแบบสอบที่มีความยาว 50 ข้อ ที่มีความแปรปรวนขององค์ประกอบแรกน้อยกว่าร้อยละ 10 ควรใช้ขนาดตัวอย่างมากกว่า 1,000 คน
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.