การวิเคราะห์พัฒนาการของดัชนีการอ่านของไทย

ผู้แต่ง

  • วรรณี แกมเกตุ ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ 10330

คำสำคัญ:

การวิเคราะห์พัฒนาการ, ดัชนีการอ่านของไทย, พฤติกรรมการอ่าน, ความสามารถในการอ่าน, ผลลัพธ์จากการอ่าน

บทคัดย่อ

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก จึงควรมีดัชนีการอ่านสำหรับสะท้อนสถานการณ์การอ่านของคนไทย การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดัชนีการอ่านสำหรับการรายงานสถานการณ์การอ่านของคนไทยในปี 2563 และเพื่อวิเคราะห์พัฒนาการของดัชนีการอ่านของคนไทยด้านพฤติกรรมการอ่าน ความสามารถในการอ่าน และผลลัพธ์จากการอ่าน โดยเทียบกับข้อมูลเส้นฐานของดัชนีการอ่านปี 2553 ดำเนินการวิจัยโดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากตัวอย่างวิจัย ซึ่งเป็นคนไทยทั้ง 4 ภูมิภาคที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในปี 2563 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอนตามกรอบการสุ่มตัวอย่างเดียวกันกับฐานข้อมูลจากงานวิจัยเดิมในปี 2553 เพื่อจับคู่ตัวอย่างด้วยวิธีการทางสถิติได้ตัวอย่างจำนวน 4,551 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน การวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบวัดซ้ำ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

  1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างดัชนีการอ่านสำหรับการรายงานสถานการณ์การอ่านของคนไทยในปี 2563 พบว่า โมเดลการวัดดัชนีการอ่านของไทยมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยน้ำหนักองค์ประกอบของตัวแปรสังเกตได้ทุกตัวแปรและน้ำหนักองค์ประกอบของพฤติกรรมการอ่าน ความสามารถในการอ่าน และผลลัพธ์จากการอ่านมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้องค์ประกอบที่มีน้ำหนักความสำคัญมากที่สุดในการบ่งชี้ถึงดัชนีการอ่านของคนไทย ได้แก่ องค์ประกอบผลลัพธ์จากการอ่าน รองลงมาคือ องค์ประกอบความสามารถในการอ่าน ส่วนองค์ประกอบพฤติกรรมการอ่านมีน้ำหนักความสำคัญน้อยที่สุด สามารถนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาใช้ในการสร้างดัชนีการอ่านสำหรับการรายงานสถานการณ์การอ่านของคนไทยในปี 2563 ได้ โดยพบว่า คนไทยมีค่าเฉลี่ยดัชนีผลลัพธ์จากการอ่านสูงที่สุด (M = 69.84, SD = 17.97) รองลงมาคือ ค่าเฉลี่ยดัชนีความสามารถในการอ่าน (M = 66.34, SD = 18.87) ส่วนค่าเฉลี่ยดัชนีพฤติกรรมการอ่านมีค่าต่ำที่สุด (M = 28.48, SD = 14.20) ซึ่งจะเห็นได้ว่าดัชนีพฤติกรรมการอ่านมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 50 ในขณะที่ดัชนีความสามารถในการอ่าน และดัชนีผลลัพธ์จากการอ่าน รวมทั้งดัชนีการอ่านรวม (M = 59.33, SD = 15.66) มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 50
  2. ผลการวิเคราะห์พัฒนาการของดัชนีการอ่านของคนไทยด้านพฤติกรรมการอ่าน ความสามารถในการอ่าน และผลลัพธ์จากการอ่าน รวมทั้งดัชนีการอ่านรวมของคนไทยโดยเทียบกับข้อมูลเส้นฐานปี 2553 พบว่า ดัชนีการอ่านของคนไทยทั้ง 3 ด้านดังกล่าว และดัชนีการอ่านรวม เปลี่ยนแปลงลดลงจากข้อมูลเส้นฐานปี 2553 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-12

How to Cite

แกมเกตุ ว. . (2023). การวิเคราะห์พัฒนาการของดัชนีการอ่านของไทย. วารสารวิธีวิทยาการวิจัย, 36(1), 88–107. สืบค้น จาก https://so12.tci-thaijo.org/index.php/jrm/article/view/541

ฉบับ

บท

บทความวิจัย