การศึกษาวิเคราะห์ความยุติธรรมตามหลักนิคหกรรมในพระไตรปิฎก

Main Article Content

สงวน หล้าโพนทัน

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาหลักนิคหกรรมในพระไตรปิฎก 2) วิเคราะห์ความยุติธรรมตามหลักนิคหกรรมในพระไตรปิฎก ขอบเขตด้านเอกสาร/คัมภีร์ คือพระวินัยปิฎก ขอบเขตด้านเนื้อหา คือคำสอนเรื่องนิคคหกรรมและแนวคิดเรื่องความยุติธรรม รวบรวมข้อมูลจากพระวินัยปิฎก วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีอุปนัย เรียบเรียงและนำเสนอโดยวิธีพรรณนาความ


ผลการศึกษา พบว่า นิคหกรรมคือกระบวนการลงโทษทางพระวินัยแก่ภิกษุผู้ทำผิด โดยเฉพาะภิกษุที่ทำผิดบ่อยๆ ไม่สำนึกตน ตามรูปศัพท์แปลว่า “ทำการข่ม” หลักนิคหกรรมเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางพระวินัยของสงฆ์โดยเฉพาะ นิคหกรรมมีจุดมุ่งหมายเพื่อลงโทษภิกษุผู้ทำความผิด และรักษาชื่อเสียง เสถียรภาพของพระพุทธศาสนา อันเป็นการแสดงออกซึ่งหลักแห่งความยุติธรรมอย่างแท้จริง ลักษณะความผิดที่เป็นเหตุให้ถูกสงฆ์ลงนิคหกรรม ได้แก่ การก่อความบาดหมางในหมู่พระสงฆ์ มีอาบัติมาก เป็นต้น นิคหกรรมทั้ง 9 ประเภท ได้แก่ 1) ตัชชนียกรรม คือ 2) นิยสกรรม 3) ปัพพาชนียกรรม คื 4) ปฏิสารณียกรรม 5) อุกเขปนียกรรม 6) ตัสสปาปิยกรรม 7) ปกาสนียกรรม 8) ปัตตนิกุชชนกรรม 9) พรหมทัณฑกรรม มีกระบวนการในการลงโทษที่เหมือนกันดังนี้ คือ 1) มีการโจทในท่ามกลางสงฆ์ 2) ผู้ประพฤติผิดให้การต่อสงฆ์ 3) ปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ประพฤติผิดนั้น 4) ภิกษุผู้ฉลาดสามารถสวดประกาศให้หมู่พระสงฆ์ทราบความเสียหายของภิกษุผู้ประพฤติ และขอให้หมู่พระสงฆ์พร้อมกันลงนิคหกรรม หากไม่มีภิกษุใดคัดค้าน ก็เป็นอันว่าสงฆ์ได้ลงนิคหกรรมแล้ว


เมื่อนำเอาวิธีการวินิจฉัยของการลงนิคหกรรมแต่ละอย่างมาเทียบกับทฤษฎีความยุติธรรมในยุคปัจจุบัน พบว่า การลงนิคหกรรมไม่ได้ขัดแย้งกับหลักความยุติธรรมของผู้รู้เรื่องความยุติธรรมในปัจจุบัน แต่สิ่งที่การลงนิคหกรรมแตกต่างจากความยุติธรรมในปัจจุบันคือการดำเนินการต่อกันเป็นแบบที่ให้ความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน โดยไม่มีการลงโทษทางด้านกายภาพ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2542). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2553). นิติศาสตร์แนวพุทธ. กรุงเทพมหานคร: สหธรรมิก.

พระมหาอุดม สารเมธี. (2553). ยุติธรรม : ยุติธรรมนั้นสำคัญนัก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาเปรียญ.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

วันวร จะนู. (2540). มโนทัศน์เรื่องความยุติธรรมในพุทธปรัชญาเถรวาท. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต. ภาควิชาปรัชญา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.