วิเคราะห์แนวคิดการสร้างพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายกับการสร้างพระพุทธรูปยุคคันธาระและยุคทวารวดีในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • พระมหาธุรกิจ ธมฺมาลงฺกโต ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษาDCI
  • พระมหายศพล ธมฺมธโร ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษาDCI

คำสำคัญ:

พระเศียร , พระพุทธรูป , วัดพระธรรมกาย , ศิลปะคันธาระ , ศิลปะทวารวดี

บทคัดย่อ

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2560 มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายในสื่อออนไลน์บางแห่งว่า มีความแตกต่างจากพระพุทธรูปตามจารีตในประเทศไทย ด้วยความที่ผู้เขียนสนใจศึกษางานวิชาการด้านพุทธศิลป์ จึงมีความสนใจที่จะศึกษาในประเด็นนี้ โดยบทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปศิลปะคันธาระและศิลปะทวารวดีในประเทศไทยกับแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกาย 2) ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการและอนุพยัญชนะ 80 ประการกับพระเศียรพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกาย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงเอกสาร ในการวิเคราะห์แนวคิดการสร้างปฏิมากรรมแทนพระพุทธเจ้า รวมทั้งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาพบว่า

1) แนวคิดการสร้างพระพุทธรูปศิลปะคันธาระและศิลปะทวารวดีในประเทศไทยกับแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกาย มีความเหมือนกัน คือ เป็นการสร้างองค์แทนพระพุทธเจ้า มีความต่างกัน คือ การสร้างพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายยังหมายถึง การสร้างองค์แทนพระธรรมกายที่สถิตอยู่ในศูนย์กลางกายของมนุษย์ เพื่อเผยแพร่การเจริญภาวนาตามแนวคำสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งคำว่าธรรมกายมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์พุทธโบราณ

2) พระเศียรพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายมีลักษณะที่ตรงกับลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ 8 ข้อและอนุพยัญชนะ 80 ประการ 14 ข้อ และมีลักษณะพิเศษอย่างอื่นที่ตรงกับลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ ผู้มีรูปงดงามและเยาว์วัยในโลกปัจจุบัน ส่วนข้ออื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏ เป็นเพราะลักษณะภายในที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ปรากฏออกมาภายนอกได้

คำสำคัญ: พระเศียร  พระพุทธรูป  วัดพระธรรมกาย  ศิลปะคันธาระ  ศิลปะทวารวดี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

12/31/2023