ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเองกับความสำเร็จในอาชีพของพนักงานบริการผู้โดยสารภาคพื้นบริษัทการบิน โดยมีจิตตะเป็นตัวแปรกำกับ
คำสำคัญ:
การรับรู้, จิตตะ, ความสำเร็จในอาชีพบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มี 2 วัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความสำเร็จในอาชีพและจิตตะ ของพนักงานบริการผู้โดยสารภาคพื้นบริษัทการบิน (2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเองกับความสำเร็จในอาชีพของพนักงานบริการผู้โดยสารภาคพื้นบริษัทการบิน โดยมีจิตตะเป็นตัวแปรกำกับ เป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ พนักงานบริการผู้โดยสารภาคพื้นบริษัทการบิน จำนวน 75 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย แบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเอง แบบวัดจิตตะ และแบบวัดความสำเร็จในอาชีพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ การวิเคราะห์ถดถอยพหุเชิงชั้น และทดสอบอิทธิพลการกำกับ (Analysis of moderation effects) ด้วยโปรแกรม PROCESS
ผลการวิจัยพบว่า
(1) การรับรู้ความสามารถของตนเอง เป็นการตัดสินความสามารถของตนเองว่า จะสามารถทำงานได้ในระดับใดหรือเป็นความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พิจารณาจากความรู้สึก ความคิด การจูงใจ และพฤติกรรม ส่วนจิตตะ คือ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ เมื่อมีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตาม การตัดสินใจทำอะไรก็จะเกิดความผิดพลาดน้อยตามไปด้วย การที่บุคคลรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานนั้นๆ ได้อย่างดี ประกอบเหตุด้วยหลักธรรมอิทธิบาท 4 ด้านจิตตะ ทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ ส่งผลความสำเร็จในอาชีพของตนได้อย่างดี
(2) การรับรู้ความสามารถของตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสำเร็จในอาชีพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 และพบว่า จิตตะเป็นตัวแปรกำกับระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเองกับความสำเร็จในอาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 และจิตตะเป็นตัวแปรกำกับที่ส่งผลต่อความสำเร็จในอาชีพของความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเองกับความสำเร็จในอาชีพ เมื่อคะแนนจิตตะสูงขึ้น ถึงแม้ว่าบุคคลที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองจะต่ำหรือสูง ก็จะส่งผลให้ความสำเร็จในอาชีพสูงขึ้นตามไปด้วย