การศึกษาคำต่างในพระไตรปิฎกใบลานประกอบการค้นคว้าอรรถกถา กรณีศึกษาอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อรหัตตวรรค
คำสำคัญ:
พระไตรปิฏกบาลี , อตินิปาตํ , อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ , อรหัตตสูตร, อุตตริมนุสสธัมมสูตรบทคัดย่อ
พระไตรปิฎกบาลีที่มีในปัจจุบันมีหลายฉบับ แม้ว่าเนื้อหาโดยรวมจะตรงกัน แต่มีบางคำที่แตกต่างกัน ซึ่งในบางกรณีอาจมีความหมายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง การศึกษาเปรียบเทียบคำต่างในพระไตรปิฎกบาลีจากหลายสายอักษรเป็นวิธีการเพื่อให้ได้คำที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์คำต่างและเนื้อหาของคำว่า อตินิปาตํ ในอรหัตตสูตร และคำว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา ในอุตตริมนุสสธัมมสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อรหัตวรรค ซึ่งปรากฏคำต่างที่มีนัยยะสำคัญเป็นกรณีศึกษา โดยใช้ข้อมูลจากพระไตรปิฎกบาลีฉบับใบลาน 4 สายอักษร ได้แก่ อักษรสิงหล อักษรพม่า อักษรขอม และอักษรธรรม และเนื้อหาจากอรรถกถาของพระสูตรดังกล่าว
ผลการศึกษาพบว่า จากพระไตรปิฎกบาลีฉบับใบลาน 16 ฉบับ และพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ 4 ฉบับที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ในตำแหน่งของคำว่า อตินิปาตํ ในใบลาน 9 ฉบับปรากฏเป็นคำว่า อติถมฺภํ และในตำแหน่งของคำว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา มีใบลาน 5 ฉบับและพระไตรปิฎกปัจจุบัน 1 ฉบับปรากฏเป็นคำว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ แต่ในอรรถกถา 3 ฉบับที่ศึกษาปรากฏบทตั้งเป็นคำว่า อตินิปาตํ และ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา ตรงกัน แสดงให้เห็นว่าใบลานที่พระอรรถกถาจารย์ใช้ศึกษาในสมัยที่เขียนอรรถกถาขึ้นนั้นต้องปรากฏเป็นคำว่า อตินิปาตํ และ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาพระไตรปิฎกประกอบการค้นคว้าอรรถกถาซึ่งช่วยให้เข้าถึงพระไตรปิฎกที่ถูกต้อง และใกล้เคียงกับยุคเริ่มต้นของพระพุทธศาสนามากที่สุด
คำสำคัญ: พระไตรปิฏกบาลี อตินิปาตํ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ อรหัตตสูตร อุตตริมนุสสธัมมสูตร